ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราชภาค 5 จาก “องค์ประกันหงสา” (2550) ปฐมบทของตำนานสมเด็จพระนเรศวรสู่ “ยุทธหัตถี” (2557) มหาศึกสงครามแห่งประวัติศาสตร์ที่สำคัญที่สุดของผืนแผ่นดิน ระดมนักแสดงซูเปอร์สตาร์ระดับแถวหน้าทั่วฟ้าเมืองไทยอย่างคับคั่งมากที่สุดในปฐพี นำโดย “พันโท วันชนะ สวัสดี, นพชัย ชัยนาม, ทักษอร ภักดิ์สุขเจริญ, อินทิรา เจริญปุระ, ฉัตรชัย เปล่งพานิช, จักรกฤษณ์ อำมะรัตน์, สรพงษ์ ชาตรี, เกรซ มหาดำรงค์กุล, นภัสกร มิตรเอม, ศุภกรณ์ กิจสุวรรณ,พันเอก วินธัย สุวารี, ปราบต์ปฏล สุวรรณบาง, พันโท คมกริช อินทรสุวรรณ, ชลัฏ ณ สงขลา, ชลิต เฟื่องอารมย์, ปวีณา ชารีฟสกุล, นาวาอากาศโท จงเจต วัชรานันท์ ฯลฯ”
เนรมิตโปรดักชั่นงานสร้างสุดอลังการถ่ายทอดตำนานการศึกสงครามกู้ชาติและปกป้องผืนแผ่นดินในประวัติศาสตร์ชาติไทยของ “องค์ดำ-สมเด็จพระนเรศวรมหาราช” กษัตริย์นักรบที่คนไทยเคารพรักและศรัทธามากที่สุดในประวัติศาสตร์ อลังการงานสร้างอย่างถึงขีดสุดกับความยิ่งใหญ่ของ “ฉากมหาสงครามยุทธหัตถี” ที่ทุกคนรอคอยใน “ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ยุทธหัตถี” อภิมหาภาพยนตร์ที่ได้รับการยกย่องให้เป็นผลงานระดับมาสเตอร์พีซเรื่องยิ่งใหญ่ที่สุดในชีวิตของ “หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล” พร้อมประจักษ์ทุกสายตาผองไทยทั้งปฐพี 29 พฤษภาคม 2557 ในโรงภาพยนตร์ทั่วประเทศ
ภายหลังจากที่ “สมเด็จพระนเรศวร” (พันโท วันชนะ สวัสดี) ทรงประกาศเอกราชที่เมืองแครง “พระเจ้าหงสาวดีนันทบุเรง” (จักรกฤษณ์ อำมะรัตน์) ก็ให้จัดทัพมาตีกรุงศรีอยุธยาเป็นหลายทัพ แต่ก็หามีทัพใดทำการสำเร็จไม่ พระเจ้านันทบุเรงเกรงว่าหากหงสาวดีมิอาจกำราบอยุธยาลงได้ นานไปเหล่าเจ้าประเทศราชอื่นจะเอาเยี่ยงพากันแข็งข้อต่อหงสา
ในปีพุทธศักราช 2129 พระองค์จึงทรงยกทัพใหญ่เป็นทัพกษัตริย์ไพร่พลกว่า 2 แสนข้ามแดนเข้าตีกรุงศรีอยุธยาหมายชิงคืนเป็นประเทศราช ครั้งนั้นสมเด็จพระนเรศทรงใช้พระนครเป็นยุทธภูมิรับศึก และวางยุทธศาสตร์ตั้งรับในเชิงรุก คือมิทรงปล่อยให้ทัพหงสาที่ล้อมกรุงเป็นฝ่ายรุกรบแต่ฝ่ายเดียว แต่ทรงแต่งกองโจรบุกปล้นค่ายศัตรูให้ต้องตกเป็นฝ่ายรับจนมิอาจรุกเข้าเหยียบถึงคูพระนคร เมื่อล้อมกรุงนานเข้า ทัพหงสาวดีก็ขาดเสบียง สมเด็จพระนเรศก็ทรงนำเรือปืนขึ้นไปยิงถล่มค่ายหลวงพระเจ้านันทบุเรงจนพม่าแตกระส่ำระสาย จอมทัพพม่าบาดเจ็บสาหัสถึงกับเสียพระสิริโฉมและทุพพลภาพ พม่าต้องถอนทัพกลับหงสาวดี และขณะเมื่อค่ายหลวงพม่าแตกนั้น “แม่นางเลอขิ่น” (อินทิรา เจริญปุระ) ก็ได้ช่องช่วย “พระราชมนู” (นพชัย ชัยนาม) จากพันธนาการคืนเข้าอยุธยาได้
พระเจ้านันทบุเรงทรงแค้นเคืองที่ต้องปราชัยต่อสมเด็จพระนเรศอย่างย่อยยับ จึงระบายความแค้นนั้นไปที่องค์ “พระสุพรรณกัลยา” (เกรซ มหาดำรงค์กุล) ซึ่งตกเป็นองค์ประกันอยู่หงสาด้วยอารมณ์รักและแค้นระคนกัน พระองค์ได้ล่วงประเวณีพระพี่นางพระนเรศและยังทำร้ายพระนางถึงตกพระโลหิต เมื่อ “สมเด็จพระมหาธรรม-ราชา” (ฉัตรชัย เปล่งพานิช) พระราชบิดาทราบความก็ให้โทมนัสด้วยสำนึกว่าชะตากรรมของพระราชธิดาและแผ่นดินของอยุธยา ทั้งพระบรมวงศานุวงศ์ที่ต้องตกเป็นเบี้ยล่างให้หงสาวดีกระทำการย่ำยีก็ด้วยเป็นเพราะพระองค์ทรงแปรพักตร์ไปเข้าข้างศัตรู อยู่มาสมเด็จพระมหาธรรมราชาก็ตรอมพระทัยเสด็จสวรรคต สมเด็จพระนเรศจึงเสด็จขึ้นเสวยราชสมบัติครองกรุงศรีอยุธยาสืบต่อจากพระราชบิดา
ข่าวการผลัดแผ่นดินของอยุธยารู้ไปถึงพระเจ้านันทบุเรง พระองค์สำคัญว่าราชอาณาจักรสยามจะไม่เป็นปกติสุข เป็นช่องชวนชิงเชิงจึงโปรดให้ “มังสามเกียด” (นภัสกร มิตรเอม) อุปราชเจ้าวังหน้ากรีฑาทัพไปตีกรุงศรีอยุธยาอีกคำรบ ครั้งนั้นสมเด็จพระนเรศทรงดำริจะนำกำลังออกไปรับศึกถึงหนองสาหร่ายแดนเมืองสุพรรณบุรี ด้วยเห็นว่าทัพพระมหาอุปราชานั้นถึงแม้จะมากด้วยกำลังรี้พลแต่ทหารหาญที่เกณฑ์มาหากมิเยาว์ด้วยวัยวุฒิก็ชราภาพ กำลังพลมิได้เข้มแข็งดั่งทัพพระเจ้านันทบุเรง ข้างพระมหาอุปราชานั้นยกทัพเข้ามาทางด่านพระเจดีย์สามองค์ผ่านลงมาถึงเมืองกาญจนบุรีก็ได้แต่เมืองเปล่า ให้ไพร่พลออกเที่ยวลาดหาจับผู้คนก็ไม่ได้ จึงยกพลล่วงลงมาปักค่ายที่ตะพังตรุ
ข้างสมเด็จพระนเรศทรงโปรดให้พระราชมนูแต่งพลเป็นทัพหน้าขึ้นไปดูกำลังข้าศึกถึงหนองสาหร่าย ทัพหน้าพระราชมนูปะทะเข้ากับทัพพม่าถึงขั้นตะลุมบอน แต่กำลังข้างพระราชมนูน้อยกว่าจึงแตกพ่ายถอยลงมาเป็นอลหม่าน สมเด็จพระนเรศทราบความจึงออกอุบายให้ทัพข้าศึกไล่เตลิดลงมาจนเสียกระบวนแล้วจึงทรงนำกำลังออกยอทัพข้าศึก ครั้งนั้นช้างทรงของสมเด็จพระนเรศคือ “เจ้าพระยาไชยานุภาพ” และช้างทรงของสมเด็จพระเอกาทศรถคือ “เจ้าพระยาปราบไตรจักร” ต่างตกน้ำมันวิ่งร่าเบกพลฝ่าเข้าไปในทัพพม่ารามัญ ไพร่พลข้างอยุธยาตามไม่ทันช้างทรง จะมีก็เพียงพลจุกช่องล้อมข้างที่โดยเสด็จไปทัน
ช้างทรงของสมเด็จพระนเรศและสมเด็จพระเอกาทศรถฝ่าเข้ามากลางวงล้อมข้าศึกและมาหยุดอยู่หน้าช้างพระมหาอุปราชา สมเด็จพระนเรศวรจึงประกาศท้าอุปราชหงสาให้ออกมากระทำยุทธหัตถีให้ก่อเกิดเป็นเกียรติแก่แผ่นดิน ด้วยขัตติยมานะ พระมหาอุปราชาก็ไสพระคชาธารออกทำคชยุทธด้วยสมเด็จพระนเรศ ขณะที่พระพี่เลี้ยง “มังจาปะโร” (ชลัฏ ณ สงขลา) ได้ออกทำยุทธหัตถีกับ “สมเด็จพระเอกาทศรถ” (พันเอก วินธัย สุวารี) สัประยุทธ์กันเป็นสองคู่ ท้ายที่สุดสมเด็จพระมหาอุปราชาก็ปราชัยสิ้นพระชนม์ด้วยคมง้าวของสมเด็จพระนเรศ ข้างมังจาปะโรก็พ่ายแพ้แก่สมเด็จพระเอกาทศรถตายกับคอช้าง ทัพหงสาก็มีอันปราชัยต้องถอยทัพนำพระศพพระมหาอุปราชาคืนสู่นครหงสาวดี